รายงานหน้า2 : ‘ศรัณย์ เจริญสุวรรณ’ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ‘ชี้ทิศทางไทยต่อสถานการณ์โลก’
หมายเหตุ - นายศรัณย์ เจริญสุวรรณ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ “มติชน” เกี่ยวกับนโยบายการต่างประเทศของประเทศไทยต่อการเผชิญหน้ากับสถานการณ์โลกในปี 2566 ⦁มองการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในปี 256...

หมายเหตุ – นายศรัณย์ เจริญสุวรรณ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ “มติชน” เกี่ยวกับนโยบายการต่างประเทศของประเทศไทยต่อการเผชิญหน้ากับสถานการณ์โลกในปี 2566
⦁มองการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในปี 2565
หลังการผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มโควิดของประเทศต่างๆ อย่างไร
โดยเฉพาะจีนที่เพิ่งจะผ่อนคลายนโยบายคุมเข้มในช่วงปลายปีที่ผ่านมา
คาดว่า ปี 2566 โควิดจะกลายเป็นโรคที่ไม่น่าหวาดกลัวเหมือนในอดีต
เพราะเรารู้จักที่จะดูแลตัวเอง
เรียนรู้ที่จะอยู่กับโรคนี้และรับมือได้ดีขึ้น อย่างไรก็ดี
การเดินทางระหว่างประเทศและการท่องเที่ยวยังไม่น่าจะกลับสู่สภาวะปกติในระดับเดียวกับช่วงก่อนโควิด-19
เนื่องจากอุตสาหกรรมการบินยังไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่
และราคาน้ำมันที่ยังคงตัวสูง ทำให้ค่าเดินทางยังราคาแพงอยู่
สำหรับการดำเนินการด้านการต่างประเทศ
คาดว่าน่าจะกลับสู่สภาวะปกติมากขึ้น เพื่อเก็บเกี่ยวช่วงเวลาที่หายไป
อย่างไรก็ดี เชื่อว่าการประชุมระหว่างประเทศจะไม่เหมือนเดิม
เพราะหลายประเทศเห็นประโยชน์ของการประชุมทางไกลหรือแบบไฮบริด
ซึ่งจะกลายเป็นทางเลือกอีกรูปแบบหนึ่งของการประชุมระหว่างประเทศอย่างถาวร
ในส่วนของการท่องเที่ยว
เป็นที่น่ายินดีที่จีนจะผ่อนคลายนโยบายโควิดภายในประเทศแล้ว
แต่ก็ยังมีความท้าทายอยู่
เพราะโลกอาจยังไม่พร้อมรับนักท่องเที่ยวจากจีนคราวละมากๆ
เนื่องจากยังกังวลกับสถานการณ์โควิดในจีน
และความเสี่ยงที่อาจมีไวรัสกลายพันธุ์นำไปสู่การแพร่ระบาดระลอกใหม่
แน่นอนว่าในส่วนของไทย
การเปิดประเทศของจีนจะทำให้มีนักท่องเที่ยวและการติดต่อธุรกิจเพิ่มมากขึ้น
ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของไทยและต่อเศรษฐกิจของโลกโดยรวม
อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจากโควิดยังคงเปราะบาง
เพราะการสู้รบในยูเครนที่ยังคงดำเนินอยู่ได้ส่งผลกระทบตามมา
ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเงินเฟ้อ พลังงานและอาหาร ความมั่นคง ในภาพใหญ่
โลกจะยังคงได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ต่อไป ผู้อำนวยการใหญ่ IMF
ประเมินว่าในปี 2566 เศรษฐกิจของหลายประเทศในโลกจะอยู่ในภาวะถดถอย
แต่เชื่อว่าประเทศไทยยังน่าจะอยู่ในสถานะที่ดีกว่า
เพราะแม้ว่าการค้าจะได้รับผล
กระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยของคู่ค้าหลายประเทศ
แต่การท่องเที่ยวที่เริ่มฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัดจะช่วยพยุงเศรษฐกิจของเรา
สิ่งที่ถือเป็นความท้าทายด้านการต่างประเทศและการทูตไทยในปีนี้ ได้แก่
สถานการณ์ในประเทศเพื่อนบ้าน การเป็นประธานบิมสเทคของไทยในปีนี้
การรณรงค์หาเสียงเพื่อเป็นเจ้าภาพในการจัดงานเอ็กซ์โปที่ภูเก็ตในปี
ค.ศ.2028 และการสานต่อประเด็น BCG จากการประชุมเอเปค
⦁การเผชิญหน้าของมหาอำนาจอย่างจีนและสหรัฐ
รวมถึงความตึงเครียดกับตะวันตกจะส่งผลกระทบกับไทยหรือไม่อย่างไร
การเผชิญหน้าและการแข่งขันของมหาอำนาจน่าจะเข้มข้นขึ้น
แต่เชื่อว่าทั้งสองฝ่ายตระหนักดีว่าการเผชิญหน้าไม่ใช่ผลประโยชน์ของฝ่ายใด
ถ้ามองย้อนไปในช่วงปลายปีก่อน ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน
ก็เพิ่งจะหารือแบบพบหน้ากันกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐ
ระหว่างเข้าร่วมประชุมจี 20 ที่เกาะบาหลี
รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐก็กำลังจะเยือนจีนในปีนี้
เมื่อสองสัปดาห์ที่แล้วรัฐมนตรีต่างประเทศออสเตรเลียก็เดินทางเยือนจีน
ดังนั้น แม้ว่าการแข่งขันในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการค้า เทคโนโลยี
รวมทั้งการแสวงหาพันธมิตรใหม่ยังมีอยู่
แต่ทั้งสองฝ่ายจะไม่ปล่อยให้บานปลายเกินควบคุมจนกลายเป็นความขัดแย้งของโลก
สำหรับไทยซึ่งเป็นประเทศเล็ก
สิ่งที่เราดำเนินการมาตลอดคือการไม่เลือกข้างในภาพใหญ่
แต่เลือกข้างในประเด็นที่เป็นผลประโยชน์ของไทย
เราไม่คว่ำบาตรรัสเซียและยังมีการติดต่อและร่วมมือกันอยู่ในด้านที่ไม่ละเอียดอ่อน
เช่น วัฒนธรรม การท่องเที่ยว
และไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่ดำเนินนโยบายเช่นนี้
แม้แต่อินเดียซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มควอดก็ยังเพิ่มปริมาณการซื้อน้ำมันจากรัสเซีย
ดังนั้น
ทุกประเทศก็ต้องเลือกสิ่งที่ตอบสนองต่อผลประโยชน์ของตัวเองให้ดีที่สุด
ขณะเดียวกันเราก็พยายามหาเพื่อนและมิตรใหม่ๆ เช่น ซาอุดีอาระเบีย
อินเดีย เพื่อลดการพึ่งพาประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นการเฉพาะ
และเพื่อกระจายความเสี่ยง เมื่อเร็วๆ นี้
ไทยและสหภาพยุโรปได้ลงนามร่างกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้านไทย-สหภาพยุโรป
(Thailand-EU Comprehensive Partnership and Cooperation Agreement :
PCA)
ซึ่งสหภาพยุโรปก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถสนองผลประโยชน์ของไทยได้ในอนาคต
โดยคาดหวังว่าการลงนาม PCA จะนำไปสู่การรื้อฟื้นการเจรจา FTA
ไทย-สหภาพยุโรป
และเราจะยังคงบทบาทที่เข้มแข็งของไทยในกรอบความร่วมมือพหุภาคีต่างๆ
ทั้ง ASEAN APEC และสหประชาชาติต่อไป
⦁คิดว่าความตึงเครียดในไต้หวันจะเกิดอุบัติเหตุจนกลายเป็นจุดปะทุภูมิภาคในปีนี้ได้ไหม
ทุกฝ่ายได้ติดตามสถานการณ์ในไต้หวันอย่างใกล้ชิดและด้วยความเป็นห่วง
แต่เชื่อว่าทุกฝ่ายตระหนักดีว่าความตึงเครียดที่บานปลายจะไม่เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายใด
โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจโลกยังเปราะบางและมีปัญหารุมเร้าในหลายด้าน
⦁ปัญหาในเมียนมาจะส่งผลกระทบกับไทยอย่างไรในปีนี้
สถานการณ์ในเมียนมาส่งผลกระทบต่อทั้งไทยในฐานะประเทศเพื่อนบ้านและอาเซียน
ไทยพยายามสนับสนุนการแก้ปัญหาตามแนวทางที่ผู้นำอาเซียนได้ตกลงกันไว้
(Five-Point Consensus)
โดยเฉพาะบทบาทของผู้แทนพิเศษของประธานอาเซียนในเรื่องเมียนมามาโดยตลอด
โดยเมื่อปลายเดือนธันวาคม 2565
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
ได้จัดการหารือระดับรัฐมนตรีต่างประเทศอย่างไม่เป็นทางการกับเมียนมา
โดยเชิญประเทศที่สนใจเข้าร่วมเพื่อรับฟังเมียนมาและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
และเพื่อเสริมความพยายามของอาเซียน
เนื่องจากเห็นว่าการที่เมียนมาไม่ได้เข้าร่วมการประชุมระดับสูงกับอาเซียนในช่วงที่ผ่านมา
ทำให้อาเซียนไม่มีโอกาสแลกเปลี่ยนความเห็นและโน้มน้าวเมียนมา
โดยไทยได้แบ่งปันข้อมูลผลการหารือให้กับประเทศสมาชิกอาเซียนที่ไม่ได้เข้าร่วมทราบด้วย
ไทยพยายามทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมเมียนมากับอาเซียน
เพราะเราคิดว่าการรับฟังซึ่งกันและกันเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
เห็นด้วยหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ต้องไม่ปิดประตูและรับฟังกัน
เราต้องเปิดช่องทางสื่อสารกับเมียนมา
ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน
และพยายามที่จะสานต่อในเรื่องนี้ต่อไป
ไทยมีชายแดนติดกับเมียนมามากกว่า 2,400 กิโลเมตร
แน่นอนว่าเราอยากให้เมียนมาสงบสุข มีความเจริญรุ่งเรือง
ไม่มีปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อไทย
ที่ผ่านมาเราก็มีความร่วมมือที่ดีระหว่างกันตามแนวชายแดนเพื่อแก้ปัญหายาเสพติด
และอาชญากรรมข้ามชาติ ต่อสถานการณ์ในเมียนมานั้น
เราอยากให้สถานการณ์ในเมียนมาสงบเรียบร้อย ยุติการใช้ความรุนแรง
ทุกฝ่ายหันมาพูดคุยกันและกลับสู่ประชาธิปไตยโดยเร็ว
ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายเรียกร้องและเป็นสิ่งที่ประชาชนเมียนมาต้องการ
เรายังให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือประชาชนเมียนมา
ที่ผ่านมามีการให้ความช่วยเหลือด้านต่างๆ เช่น การบริจาควัคซีนโควิด 1
ล้านโดส การอบรมแพทย์ การบริจาคเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์
การสร้างความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งจะไม่ใช่การดำเนินการเพียงครั้งคราว
แต่เราจะดำเนินการกับเมียนมาอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องต่อไปในฐานะประเทศเพื่อนบ้าน
⦁คิดว่าอะไรคือจุดเปลี่ยนในด้านการต่างประเทศของโลกในปีนี้
สถานการณ์ในยูเครนยังส่งผลกระทบต่อโลกอย่างมาก
โดยในช่วงฤดูหนาวการสู้รบอาจจะเบาลง
ซึ่งจะมีแรงกดดันเพิ่มขึ้นให้ทั้งสองฝ่ายหันหน้ามาเจรจากันเพื่อหาทางออก
ท่าทีของตะวันตกคือให้ยูเครนยุติปัญหาบนเงื่อนไขที่ยูเครนพอใจ
ซึ่งก็คือการให้รัสเซียออกจากดินแดนทั้งหมดรวมถึง
ไครเมียด้วย
แต่ท่าทีของรัสเซียคือให้ยูเครนยอมรับการยึดครองไครเมียและดอนบาส
ซึ่งท่าทีที่ห่างไกลกันขณะนี้ ทำให้ทั้งสองฝ่ายไม่สามารถเจรจากันได้
ความไม่ไว้วางใจระหว่างกันก็สูงมาก
เพราะยังมีการปะทะกันและโจมตีเป้าหมายทั้งทางทหารและพลเรือนทุกวัน
สร้างความยากลำบากให้กับประชาชนยูเครน แต่หากจะสู้รบกันต่อไปเรื่อยๆ
ก็ไม่เป็นผลดีต่อทั้งสองฝ่ายรวมถึงผู้ให้การสนับสนุน
เพราะส่งผลกระทบทั้งในด้านความมั่นคง พลังงาน อาหาร เงินเฟ้อ
ความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุจากการใช้อาวุธนิวเคลียร์ก็มีสูง
ทั้งสองฝ่ายต่างเหนื่อยล้าจากสงคราม จำนวนอาวุธของรัสเซียก็ลดลง
ขณะที่ยูเครนแม้จะได้รับอาวุธจากตะวันตกมาสนับสนุน แต่ประชาชนก็ลำบาก
และเศรษฐกิจของทั้งรัสเซียและยูเครนก็ได้รับผลกระทบ
ยูเครนบอกว่าจะประกาศแผนสันติภาพในเดือนกุมภาพันธ์
แต่จะไม่มีการเจรจากับรัสเซีย อย่างไรก็ดี
เชื่อว่าปีนี้น่าจะถึงจุดที่ทั้งสองฝ่ายต้องมาคุยกันและมีแผนสันติภาพเพื่อยุติการสู้รบที่ชัดเจนขึ้น
ในการเจรจาต้องมีการพูดถึงประเด็นที่แต่ละฝ่ายห่วงกังวล
ซึ่งอาจยังต้องใช้เวลาหลายปี
แต่การผ่อนคลายความตึงเครียดจะเป็นผลดีต่อโลก
และช่วยผ่อนคลายวิกฤตด้านพลังงานและอาหาร
⦁อีกไม่กี่วันจะครบ 1 ปีการฟื้นสัมพันธ์ไทย-ซาอุดีอาระเบีย
ปีนี้จะมีความคืบหน้าอย่างไร
ปีที่ผ่านมาถือเป็นจุดสูงสุดของความสัมพันธ์
และในเวลาเพียงหนึ่งปีการฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างกันเดินหน้าไปเร็วมาก
มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูง
โดยเฉพาะการเยือนซาอุดีฯของนายกรัฐมนตรี
และรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
และการเสด็จฯ เยือนไทยของมกุฎราชกุมารซาอุดีฯ
พลวัตของความสัมพันธ์เป็นไปด้วยดี
ถือเป็นความสำเร็จของรัฐบาลในด้านการต่างประเทศและการทูตอย่างแท้จริง
ขณะนี้มีการวางกลไก “สภาความร่วมมือซาอุดี-ไทย”
เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกัน
เชื่อว่าในปีนี้จะมีการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงและภาคเอกชนอีกมากตามมา
เพื่อติดตามและสานต่อผลการหารือระดับสูงที่ผ่านมา
ทั้งด้านการท่องเที่ยว การลงทุน ความมั่นคง พลังงาน อาหาร
อุตสาหกรรมบริการ การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์
ซาอุดีฯต้องการแรงงานไทยมีฝีมือไปทำงาน
และคาดหวังว่าจะมีการลงทุนขนาดใหญ่จากซาอุดีฯในไทย
และขณะนี้ก็มีบริษัทไทยที่เข้าไปลงทุนในซาอุดีฯแล้วเช่นกัน
ทั้งสองประเทศพยายามเสริมสร้างความสะดวกในการติดต่อไปมาระหว่างกัน
ขณะนี้อยู่ระหว่างการทำความตกลงยกเว้นวีซ่าสำหรับหนังสือเดินทางทูตและหนังสือเดินทางราชการ
และผลักดันให้มีการทำ Visa on Arrival
สำหรับคนไทยที่จะเดินทางไปซาอุดีฯ
จากความสัมพันธ์ที่ดีในปีที่ผ่านมา
⦁การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปีนี้จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินนโยบายต่างประเทศของไทยหรือไม่
การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลที่ผ่านมาไม่ได้ส่งผลกระทบโดยรวมต่อนโยบายต่างประเทศของไทย
จะมีการสานต่อผลประโยชน์ของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง
อย่างที่ได้กล่าวไปว่า
ในปีนี้โอกาสของการเดินทางระหว่างประเทศน่าจะกลับมาเป็นปกติ
จะมีการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงมากขึ้น
เพื่อเจริญความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
แต่จากการที่ไทยจะมีการเลือกตั้งและการตั้งรัฐบาลใหม่ในปีนี้
การเยือนระดับสูงน่าจะมีขึ้นภายหลังจากที่มีรัฐบาลใหม่
คุณกำลังดู: รายงานหน้า2 : ‘ศรัณย์ เจริญสุวรรณ’ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ‘ชี้ทิศทางไทยต่อสถานการณ์โลก’
หมวดหมู่: การเมือง