โอมิครอน XBB.1.5 โควิดสายพันธุ์แพร่ไวสุด น่ากังวลแค่ไหน?
นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกจับตาการระบาดของโควิดสายพันธุ์ใหม่ XBB.1.5 ซึ่ง WHO ให้เป็นโควิดที่แพร่กระจายได้เร็วที่สุด โดยยังไม่แน่ชัดว่ามันทำให้ป่วยหนักขึ้นหรือไม่ แต่วัคซีนยังป้องกันได้

- นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกจับตาการระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่
XBB.1.5
ซึ่งองค์การอนามัยโลกยกให้เป็นโควิดที่แพร่กระจายเร็วที่สุดเท่าที่เคยพบมา
- XBB.1.5
ยังมีการกลายพันธุ์ที่ทำให้มันหลบภูมิคุ้มกันและจับกับตัวรับในเซลล์มนุษย์ได้ดี
ต่างจากสายพันธุ์ก่อนๆ ที่หลบภูมิคุ้มกันได้
แต่มีประสิทธิภาพในการจับเซลล์ลดลง
- ผู้เชี่ยวชาญยังไม่สามารถฟันธงได้ว่า XBB.1.5
จะทำให้ผู้ติดเชื้อมีอาการป่วยหนักกว่าไวรัสรุ่นก่อนหรือไม่
แต่พวกเขาย้ำว่า การฉีดวัคซีนยังเป็นวิธีป้องกันที่ดีที่สุด
XBB.1.5 เป็นสายพันธุ์ย่อยของไวรัสโควิด-19
โอมิครอนตัวล่าสุดที่อุบัติขึ้นบนโลก และกำลังแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว
ถูกพบแล้วใน 29 ประเทศ รวมถึงสหรัฐอเมริกากับหลายพื้นที่ในยุโรป
ทำให้เกิดความกังวลว่าโควิดอาจกลับมาระบาดครั้งใหญ่อีกครั้ง
องค์การอนามัยโลกออกมายกให้ไวรัสสายพันธุ์ XBB.1.5
เป็นโอมิครอนที่แพร่กระจายไวที่สุดเท่าที่เคยพบมา
มันมีการกลายพันธุ์ที่ทั้งทำให้ติดต่อได้ง่ายและหลบภูมิคุ้มกันได้มากขึ้น
แม้จะไม่มีข้อบ่งชี้ว่า มันทำให้ผู้ติดเชื้อป่วยหนักกว่าสายพันธุ์อื่น
แต่คนกลุ่มเสี่ยงรวมถึงผู้ที่มีภูมิคุ้มกันไม่เพียงพอ
อาจได้รับผลกระทบจากไวรัสตัวนี้
นักวิทยาศาสตร์ยอมรับว่ายังมีเรื่องต้องศึกษาอีกมากเกี่ยวกับ XBB.1.5
เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับอันตรายของมัน
แต่การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นยังคงเป็นวิธีที่ดีในการป้องกันไวรัสสายพันธุ์ใหม่ตัวนี้

สายพันธุ์ที่แพร่กระจายเร็วที่สุด
XBB.1.5 เป็นสายพันธุ์ย่อยของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน
กลายพันธุ์มาจากสายพันธุ์ย่อย XBB อีกที โดยองค์การอนามัยโลกยกให้
XBB.1.5 เป็นไวรัสโควิด-19
สายพันธุ์ที่แพร่กระจายเร็วที่สุดในโลกเท่าที่เคยมีมา
มันเริ่มแพร่กระจายในสหราชอาณาจักรเมื่อเดือนกันยายน
และตอนนี้มันถูกพบแล้วใน 29 ประเทศ
ดร.อีวาน แฮร์ริสัน จากสถาบัน เวลล์คัม แซงเกอร์ (Wellcome Sanger)
ในเมืองเคมบริดจ์ เชื่อว่า XBB.1.5
เกิดจากการรวมตัวกันของเชื้อโอมิครอนที่แตกต่างกัน 2
สายพันธุ์ในตัวของผู้ติดเชื้อ
“จีโนมเล็กน้อยของไวรัสตัวหนึ่งไปร่วมกับจีโนมอีกเล็กน้อยของไวรัสตัวที่
2 แล้วรวมตัวกัน และแพร่กระจายต่อไปเรื่อยๆ”
ดร.มาเรีย ฟาน แกร์คอฟ หัวหน้าทีมเทคนิคด้านโควิด-19 ของ WHO เผยว่า
นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกกำลังกังวลกับความเร็วในการแพร่กระจายที่มันแสดงให้เห็นในสหรัฐฯ
โดยตอนนี้อเมริกาเป็นประเทศที่มีอัตราส่วนผู้ติดเชื้อ XBB.1.5
มากที่สุดในโลก คิดเป็น 40% ของผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่พบในประเทศ
เพิ่มจากเดือนธันวาคมที่พบเพียง 4% เท่านั้น

ทำไม XBB.1.1 แพร่กระจายเร็ว?
ดร.แอนดี รอธสตีน นักชีวสารสนเทศศาสตร์
ซึ่งช่วยเหลือศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC)
ในโครงการตรวจเชื้อและเก็บตัวอย่างพันธุกรรมที่สนามบินต่างๆ ในสหรัฐฯ
กล่าวว่า XBB.1.5 มีอาวุธ 2
อย่างที่ทำให้มันได้เปรียบเชื้อสายพันธุ์ก่อน คือ มันติดต่อง่ายขึ้น
และหลบภูมิคุ้มกันมากขึ้น
เชื้อ XBB
สายพันธุ์ดั้งเดิมมีการกลายพันธุ์ที่ทำให้มันเอาชนะระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์
แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้ความสามารถในการติดต่อสู่เซลล์มนุษย์ต่ำลง
ซึ่งนั่นอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้มันหายไปอย่างรวดเร็ว
หลังเกิดการแพร่กระจายที่ประเทศสิงคโปร์เมื่อเดือนตุลาคม
แต่ XBB.1.5 มีการกลายพันธุ์ใหม่ที่ยีนตำแหน่ง F486P
ซึ่งฟื้นฟูความสามารถในการยึดติดกับเซลล์กลับมา ทำให้มันจับตัวรับ
ACE2 บนผิวเซลล์มนุษย์ได้แน่นขึ้น
ในขณะที่ยังหลบภูมิคุ้มกันได้ดีเหมือนเดิม
ทำให้มันแพร่กระจายและทำให้คนติดเชื้อได้ง่ายกว่า XBB
ชนิดดั้งเดิม

ไม่ฟันธง XBB.1.5 ทำให้ป่วยหนักขึ้นหรือไม่
ศ.วิลเลียม แชฟฟ์เนอร์
ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อจากโรงเรียนแพทย์มหาวิทยาลัย แวนเดอร์บิลต์
(Vanderbilt) กล่าวว่า จนถึงตอนนี้ยังไม่พบว่า XBB.1.5
ทำให้เกิดอาการป่วยที่ต่างออกไปจากโอมิครอนสายพันธุ์อื่นๆ
ซึ่งส่วนใหญ่จะทำให้เกิดอาการ ไข้, ไอ, หายใจลำบาก, เหนื่อยล้า,
ปวดกล้ามเนื้อ, ปวดหัว, เจ็บคอ, น้ำมูกไหล, ไม่รู้รสหรือกลิ่น,
คลื่นไส้อาเจียน หรือท้องเสีย
ด้าน ดร.ฟาน แกร์คอฟ ระบุว่า
องค์การอนามัยโลกยังไม่มีข้อมูลเรื่องความรุนแรงของ XBB.1.5
แต่ก็ไม่มีข้อบ่งชี้เช่นกันว่าโควิดสายพันธุ์นี้ทำให้คนป่วยหนักกว่าโอมิครอนสายพันธุ์ก่อนๆ
และถึงแม้ว่าอัตราการเสียชีวิตจากโควิด-19 เฉลี่ยทั่วโลกจะสูงขึ้น 15%
ในเดือนธันวาคม ซึ่งถือเป็นการกลับมาเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบหลายเดือน
แต่ก็ไม่มีหลักฐานว่าเป็นเพราะ XBB.1.5
วัคซีนยังใช้ป้องกันได้
ศ.รวินทรา กุปตา จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์
เชื่อว่าวัคซีนยังเป็นกุญแจสำคัญในการป้องกันไวรัสสายพันธุ์ล่าสุดนี้
“หลักฐานชี้ว่า วัคซีนกระตุ้นรุ่นใหม่ชนิดผสม 2 สายพันธุ์ (bivalent)
กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี
และตอบสนองอย่างแข็งแกร่งต่อไวรัสสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน รวมถึง
BA.4 และ BA.5”
“XBB ก็คล้ายกับเป็นกิ่งก้านที่แยกออกมาจากสายพันธุ์ BA.2
ซึ่งเก่ากว่าเล็กน้อย
แต่เราเชื่อว่าการฉีดวัคซีนกระตุ้นยังสร้างการป้องกันที่ดี” ศ.กุปตา
กล่าวและเสริมว่า แม้ XBB.1.5 จะหลบภูมิคุ้มกันได้
แต่ภูมิคุ้มกันระดับสูงสามารถจำกัดโอกาสป่วยหนัก
ขณะที่การตรวจโรคด้วยวิธีมาตรฐานอย่าง ART ก็สามารถตรวจจับ XBB.1.5
ได้

นักวิทย์ห่วงคนกลุ่มเสี่ยง
ศ.เวนดี บาร์เคลย์ จากราชวิทยาลัยลอนดอน กล่าวว่า
เธอไม่ได้กังวลเป็นพิเศษสำหรับผู้ได้รับวัคซีนแล้ว
เพราะไม่มีข้อบ่งชี้ว่า XBB.1.5
สามารถทะลวงการป้องกันการติดเชื้อรุนแรงของวัคซีนได้
แต่เธอเป็นห่วงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้ต่อกลุ่มคนอ่อนแอ
ซึ่งรวมถึงผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง
ซึ่งได้รับประโยชน์จากวัคซีนน้อยกว่าคนทั่วไปมากกว่า
ด้าน ศ.เดวิด เฮย์แมนน์ จากโรงเรียนแพทย์เขตร้อนและสุขอนามัยลอนดอน
ยอมรับว่า
นักวิทยาศาสตร์ยังต้องเรียนรู้อีกมากเกี่ยวกับสายพันธุ์ย่อยชนิดนี้
แต่เขาเชื่อว่ามันไม่น่าสร้างปัญหาใหญ่ให้แก่ประเทศต่างๆ
อย่างสหราชอาณาจักร
ซึ่งมีระดับการภูมิคุ้มกันที่ได้จากการฉีดวัคซีนและการติดเชื้อครั้งก่อนสูง
ศ.เฮย์แมนน์ เป็นห่วงประเทศอย่างจีนมากกว่า
เนื่องจากมีอัตราการฉีดวัคซีนต่ำและภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติน้อยเนื่องจากการล็อกดาวน์เป็นเวลานาน
“จีนจำเป็นต้องแบ่งปันข้อมูลทางคลินิกเกี่ยวกับผู้ติดเชื้อ
เพื่อดูว่าไวรัสสายพันธุ์นี้มีพฤติกรรมอย่างไรในหมู่ประชากรที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน”.
ผู้เขียน : ทิตชนม์ สว่างศรี
ที่มา : bbc, cna, yahoo
คุณกำลังดู: โอมิครอน XBB.1.5 โควิดสายพันธุ์แพร่ไวสุด น่ากังวลแค่ไหน?
หมวดหมู่: ต่างประเทศ
บทความที่เกี่ยวข้อง:
- WHO ชี้ โควิดยังเป็นภาวะฉุกเฉินโลก แต่มาถึงจุดเปลี่ยนผ่านแล้ว
- ผู้เชี่ยวชาญ ชี้ โอมิครอน XBB ยังไม่ได้เป็นสายพันธุ์หลักระบาดในจีน
- "อนุทิน" นำ ขรก.3 กระทรวง ต้อนรับนักท่องเที่ยวจีน ไฟลต์แรก 269 คน
- ผ่อนกฎ 2 เข็ม นักท่องเที่ยวเข้าไทย หลังมีปัญหาฝรั่งโดนห้ามขึ้นเครื่องบิน
- ตื่นเต้น จีนเปิดประเทศ ผู้โดยสารกลุ่มแรกเกือบ 400 คนมาจากสิงคโปร์ แคนาดา
- จับตาโอมิครอนลูกผสม "XBB.1.5" ชี้เป็นสายพันธุ์อุบัติใหม่น่ากังวลมากที่สุด